ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

Public assistance of The Sangha Supreme Council of Thailand

หน้าหลัก

ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

ติดต่อ

ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

          ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้องค์กรเครือข่ายต่างๆ พัฒนาไปอย่างสุดขีดความสามารถ การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน อยู่ในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในลักษณะของการแปลงยุทธศาสตร์ระยะยาวสู่การปฏิบัติในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีการพัฒนาเป็นไปอย่างมีทิศทางและเกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย


          การบริหารกิจการพระพุทธศาสนา เป็นอีกกิจการหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยภายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในปัจจุบัน มีการปฏิรูปกิจการต่างๆ ของประเทศไทย การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2560 - 2564

          ในการนี้มหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคุณสงฆ์ไทย ได้มีคำสั่งที่ 2/2559 แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของมหาเถรสมาคม ลงวันที่ 25 เมษายน 2559 จากนั้น คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้มีการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ตามภารกิจกรอบงานคณะสงฆ์ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านปกครอง 2) ด้านศาสนศึกษา 3) ด้านศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านเผยแผ่ 5) ด้านสาธารณูปการ 6) ด้านสาธารณสงเคราะห์ โดยฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม มีพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมคณะกรรมการอีก 15 รูป/คน เพื่อขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาด้านสาธารณสงเคราะห์ และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้พิจารณา มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และให้ดำเนินการได้ทันที

เป้าหมายการเติบโตของพระพุทธศาสนาสู่ความยั่งยืน

          ด้านการปกครอง การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

          ด้านศาสนศึกษา การจัดและการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม

 

          ด้านการเผยแผ่ การสื่อพุทธธรรมสู่สังคมให้เกิดสันติสุข

 

          ด้านศึกษาสงเคราะห์ สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา สงเคราะห์แก่คฤหัสถ์

 

          ด้านสาธารณูปการ การบริหารจัดการศาสนสมบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

          ด้านสาธารณสงเคราะห์ การอนุเคราะห์และสงเคราะห์ประโยชน์ส่วนรวม

 

          ด้านพัฒนาพุทธมลฑล การพัฒนาพุทธมลฑลสู่ศูนย์กลางการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา

ความหมาย

     การสาธารณสงเคราะห์ หมายถึง การดำเนินกิจการต่างๆ ที่ช่วยเหลือและพัฒนาสังคมทั้งด้านกายภาพและทางด้านจิตใจ เป็นเครื่องมือขององค์กรทางพุทธศาสนาที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพสูงที่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าต่อไปได้


     การสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน หมายถึง การยกระดับการดำเนินงานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ เกิดประสิทธิภาพจากการดำเนินงาน และมีประสิทธิผลต่อสังคมในภาพรวม

การจัดการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

          การจัดการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมของคณะสงฆ์ไทยเพื่อความยั่งยืน คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ได้กำหนดกรอบในการดำเนินการ จำนวน 4 ด้าน ดังนี้

  1. สาธารณสงเคราะห์ 1.0 (สงเคราะห์) หมายถึง การให้การสงเคราะห์สาธารณชน เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้น โดยเข้าไปให้ความช่วยเหลือวัดและประชาชนผู้ประสบสาธารณภัยต่าง ๆ มีอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น ทั้งด้านกายภาพ โดยการมอบปัจจัย 4 มีการช่วยเหลือด้วยสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง และด้านจิตใจ โดยการมอบธรรมะเป็นกำลังใจในคราวประสบสาธารณภัย

    กิจกรรม การให้ความช่วยเหลือในภาวะวิกฤต (การประสบสาธารณภัย มี อุทกภัย วาตภัยอัคคีภัย เป็นต้น)
  1. สาธารณสงเคราะห์ 2.0 (เกื้อกูล) หมายถึง การที่คณะสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ให้มีทรัพยากรเพียงพอกับการอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตของคน ชุมชน เช่น การจัดการป่า (ปลูกป่า, บวชป่า, อนุรักษ์ป่า) การจัดการน้ำ (ฝายต้นน้ำ, ขุดบ่อน้ำ) การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน การไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อการเกษตร

    กิจกรรม การจัดการป่าปลูกป่า/บวชป่า, การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน, การป้องกันและแก้ไขยาเสพติดชุมชน, สมุนไพรและภูมิปัญญาพื้นบ้าน, ไถ่ชีวิตโค กระบือ เพื่อเกษตรกร
  1. สาธารณสงเคราะห์ 3.0 (พัฒนา) หมายถึง คณะสงฆ์เป็นผู้นำในการพัฒนาพื้นที่โดยใช้หลักธรรมมาประยุกต์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น จัดพื้นที่วัดเป็นศูนย์การช่วยเหลือชุมชน การเกษตรวิถีพุทธ ศาสตร์พระราชา กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ การส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน

    กิจกรรม การสร้างวัฒนธรรมจิตอาสา, การสร้างศูนย์กลางให้การช่วยเหลือชุมชน, การเกษตรวิถีพุทธ, กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์, การส่งเสริมสัมมาชีพ, ศาสตร์พระราชา, คิลานุปัฏฐาก, พิพิธภัณฑ์ชุมชน
  1. สาธารณสงเคราะห์ 4.0 (บูรณาการ) หมายถึง คณะสงฆ์ส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืน เป็นการร่วมกันพัฒนา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ผสานพลังผ่านภาคีเครือข่าย เช่น ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ โรงเรียนผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงพุทธ การอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ การตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเครือข่ายจิตอาสาด้านสาธารณสงเคราะห์

    กิจกรรม เครือข่ายการสาธารณสงเคราะห์, ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์, โรงเรียน/ชมรมผู้สูงอายุ, การอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม, กองทุนช่วยเหลือสงเคราะห์สาธารณภัย, เครือข่ายจิตอาสา, สังฆพัฒนาวิชชาลัย

ความสำคัญ

          พระสงฆ์กับงานการสงเคราะห์เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังพระพุทธพจน์ว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พชนสุขาย โลกานุกมปาย" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก"

 

          ในสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลงมีสาธารณภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์จึงเป็นกรณีกิจหนึ่งของคณะสงฆ์ที่จะให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่ชุมชนและสังคม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ คณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม จึงได้จัดทำคู่มือเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติให้กับคณะสงฆ์ไทย

ติดต่อสอบถาม

สำนักงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร 2

ถนน สนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

โทร : 02-222-7831

อีเมล : [email protected]

person
call
mail
title
edit_note